ข้อสังเกตุเห็ดพิษ และการปฐมพยาบาลเบื้องต้น


  • การทดสอบเห็ดพิษแบบชาวบ้าน
วิธีการตรวจสอบเห็ดพิษแบบชาวบ้านต่อไปนี้ ถึงแม้จะไม่ถูกต้องนัก
แต่ก็จัดว่าเป็นภูมิปัญญาของชาวบ้าน ที่จะใช้ตรวจสอบว่าเห็ดชนิดไหนรับประทานได้
ชนิดไหนเป็นเห็ดพิษ ซึ่งจะนำมาใช้ได้เป็นบางส่วนหรือในบางโอกาส ดังต่อไปนี้
1. นำข้าวสารมาต้มกับเห็ด ถ้าไม่เป็นพิษข้าวสารจะสุก ถ้าเป็นพิษข้าวสารจะสุกๆ ดิบๆ
2. ใช้ช้อนเงินคนต้มเห็ด ถ้าช้อนเงินกลายเป็นสีดำ จะเป็นเห็ดพิษ
3. ใช้ปูนกินหมากป้ายดอกเห็ด ถ้าเป็นเห็ดพิษจะกลายเป็นสีดำ
4. ใช้หัวหอมต้มกับเห็ด ถ้าเป็นเห็ดพิษจะเป็นสีดำ
5. ใช้มือถูเห็ดจนเป็นรอยแผล ถ้าเป็นพิษรอยแผลนั้นจะเป็นสีดำ แต่เห็ดแชมปิญญองเป็นเห็ดที่รับประทานได้ เมื่อเป็นแผลก็จะเป็นสีดำ
6. ดอกเห็ดที่มีรอยแมลงและสัตว์กัดกิน เห็ดนั้นไม่เป็นพิษ แต่กระต่ายและหอยทากสามารถกินเห็ดพิษได้
7. เห็ดที่เกิดผิดฤดูกาล มักจะเป็นพิษ แต่ในทุกวันนี้สามารถเพาะเห็ดได้ตลอดปี
8. เห็ดพิษมักจะมีสีฉูดฉาด เห็ดรับประทานได้จะมีสีอ่อน
  • การบริโภคเห็ดโดยทั่วไปควรปฏิบัติดังนี้
1. การรับประทานอาหารที่ประกอบ ขึ้นด้วยเห็ดควรจะ รับประทาน แต่พอควรอย่ารับประทาน จนอิ่มมากเกินไป เพราะเห็ดเป็นอาหารที่ย่อยยาก อาจจะทำให้ผู้มีระบบย่อย อาหารที่อ่อนแอ เกิดอาการอาหารเป็นพิษได้
2. การปรุงอาหารที่ประกอบขึ้นด้วยเห็ด ต้องระมัดระวัง คัดเห็ดที่เน่าเสียออกก่อน เพราะเห็ดที่เน่าเสียจะทำให้เกิด อาการอาหารเป็นพิษได้เช่นกัน
3. อย่ารับประทานอาหารที่ปรุงขึ้นสุก ดิบ หรือเห็ดดิบดอง เพราะเห็ดบางชนิดยังจะมีพิษอย่างอ่อนเหลืออยู่ ผู้รับประทานจะไม่รู้สึกตัวว่ามีพิษ จนเมื่อรับประทานหลายครั้งก็สะสมพิษ มากขึ้นและเป็น พิษร้ายแรงถึงกับเสีย ชีวิตได้ในภายหลัง
4. ผู้ที่รู้ตัวเองว่าเป็นโรคภูมิแพ้เกี่ยวกับเห็ดบางชนิด หรือกับเห็ดทั้งหมด ซึ่งถ้ารับประทานเห็ดเข้าไปแล้ว จะทำให้เกิดอาการเบื่อเมา หรืออาหารเป็นพิษ จึงควรระมัดระวัง รับประทานเฉพาะเห็ดที่รับประทาน ได้โดยไม่ แพ้หรือหลีกเลี่ยงจากการรับประทานเห็ด
5. ระมัดระวังอย่ารับประทานเห็ดพร้อมกับดื่มสุรา (แอลกอฮอล์) เพราะเห็ดบางชนิดจะเกิดพิษทันที ถ้าหากดื่มสุราหลังจากรับประทานเห็ดแล้วภายใน 48 ชั่วโมง เช่น เห็ด Coprinus atramentrius แม้แต่เห็ดพิษอื่นทั่วไป หากดื่มสุราเข้าไปด้วย ก็จะเป็นการช่วยให้พิษกระจายได้รวดเร็วและรุนแรงขึ้นอีก
  • การปฐมพยาบาลผู้ป่วยที่รับประทานเห็ดพิษ
การปฐมพยาบาลมีความสำคัญอย่างยิ่ง หากผู้ป่วยรับ ประทาน เห็ดพิษและเกิดอาการพิษขึ้น ควรจะรู้จักวิธีปฏิบัติ ที่ถูกต้องกับผู้ป่วย แต่ตามชนบทมัก จะปฏิบัติกับผู้ป่วยผิด แล้วทำให้เสียชีวิตกันอยู่เสมอ อนึ่ง อาการพิษของเห็ดจะแสดงอาการหลังรับประทานแล้ว หลายชั่วโมง ซึ่งพิษมักจะกระจายไปมาก ดังนั้นจึงจำเป็นต้องรู้จัก วิธีปฐมพยาบาล แล้วรีบนำส่งแพทย์ เพื่อทำการรักษาโดยรีบด่วนต่อไป

การปฐมพยาบาลนั้น ที่สำคัญที่สุดคือ ทำให้ผู้ป่วยอาเจียนเอาเศษอาหารที่ตกค้างออกมาให้มาก
และทำการช่วยดูดพิษจากผู้ป่วยโดยวิธีใช้น้ำอุ่นผสมผงถ่าน activated charcoal และดื่ม 2 แก้ว
โดยแก้วแรกให้ล้วงคอให้อาเจียนออกมาเสียก่อนแล้วจึงดื่มแก้วที่ 2 แล้วล้วงคอให้อาเจียนออกมาอีกครั้ง
จึงนำส่งแพทย์พร้อมกับ ตัวอย่างเห็ดพิษหากยังเหลืออยู่ หากผู้ป่วยอาเจียนออก
ยากให้ใช้เกลือแกง 3 ช้อนชาผสมน้ำอุ่นดื่ม จะทำให้อาเจียนได้ง่ายขึ้น แต่วิธีนี้ห้ามใช้กับเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ
อนึ่ง ห้ามล้างท้องด้วยการสวนทวารหนักโดยพละการ วิธีนี้ต้องให้แพทย์เป็นผู้วินิจฉัยเท่านั้น
เพราะวิธีนี้จะเป็นอันตรายต่อผู้ป่วยหากร่างกายขาดน้ำ
หลังจากปฐมพยาบาลผู้ป่วยแล้วให้รีบนำส่งแพทย์โดยด่วน พร้อมกับตัวอย่างเห็ดพิษ (หากยังเหลืออยู่) หรืออาจจะทำการปฐมพยาบาลผู้ป่วยในระหว่างนำส่งแพทย์ด้วยก็ได้

แนวทางการเก็บตัวอย่างเห็ดพิษส่งตรวจ
1. ควรเก็บจากแหล่งหรือพื้นที่เดียวกันกับที่ผู้ป่วยเก็บมารับประทาน
2. เลือกเก็บดอกที่สมบูรณ์ ดอกยังไม่ช้ำและมีทั้งก้านดอกและราก
3. ก่อนเก็บเห็ด ควรถ่ายภาพเห็ดไว้ เพื่อประกอบในการพิจารณา ชนิดของเห็ด โดยมีขั้นตอนดังนี้
3.1 ถ่ายภาพแบบธรรมชาติ
3.2 กวาดเศษขยะรอบฯ ต้นเห็ดออก แล้วถ่ายภาพด้านบนดอก ด้านใต้ดอก และด้านข้างดอก ทั้ง สี่ด้าน และควรมีสเกลบอกความกว้างความยาวของเห็ด แล้วจึงลงมือเก็บ โดยขุดให้ห่างจากลำต้น พอประมาณ ให้ได้รากด้วย หลังจากนั้นควรปักป้ายเตือน ไม่ให้มีการเก็บเห็ดในบริเวณนั้นไปรับประทาน
4. การนำส่งตรวจ เห็ดที่ส่งตรวจควรมีสภาพสมบูรณ์ มีดอก ลำต้นและราก และขณะนำส่ง ต้องรักษาสภาพของ
ดอกไม่ให้ช้ำและเน่า โดยห่อดอกเห็ดด้วยกระดาษ (การห่อด้วยกระดาษจะช่วยไม่ให้ภายในห่อมีความชื้น
ซึ่งจะทำให้เห็ดเน่าเร็ว) ทำเป็นถุงหรือเย็บเป็น กระทงให้พอดีกับดอกเห็ด เพื่อไม่ให้ดอกเห็ดเคลื่อนไหว
ป้องกันการช้ำ หลังจากนั้นใส่ลงถุงพลาสติก เป่าลมให้ถุงพลาสติกพองแล้วใช้หนังยางรัด และบรรจุในกล่องโฟมก่อนส่ง ถ้าส่งถึงห้องปฏิบัติการภายในวันเดียวกัน ไม่ต้องแช่เย็น ถ้าส่งเกิน 1 วัน ให้เก็บ เห็ดไว้ในตู้เย็นอุณหภูมิ 4 - 8 องศาเซลเซียล และควรรักษาความเย็นของเห็ดจนกว่าจะถึงปฏิบัติการ
5. ส่งตัวอย่างพร้อมใบนำส่งตัวอย่าง ควรมีรายละเอียดบริเวณที่เก็บเห็ด ว่าเห็ดขึ้นในบริเวณใด เช่น บริเวณบ้าน, สนามหญ้า , ในป่าใกล้ต้นไม้ชนิดใด ใกล้จอมปลวก หรือบนชานอ้อย เป็นต้น พร้อมอาการและอาการแสดงของผู้ป่วย เพื่อใช้ประกอบการตรวจยืนยัน ชนิดและพิษของเห็ด
6. ส่งตัวอย่างมาที่สำนักระบาดวิทยาในวันและเวลาราชการ พร้อมแจ้งล่วงหน้าทาง หมายเลขโทรศัพท์ 0 2590 1779 เพื่อสำนักระบาดวิทยาจะได้ไปรับตัวอย่าง และส่งตัวอย่างไป ตรวจที่สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

สถานที่ส่งตรวจ ได้แก่ สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตั้งอยู่ที่ถนนงามวงศ์วาน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
เบอร์โทรศัพท์ 02-5798558,02-5790147
    เอกสารอ้างอิง
1. อนงค์ จันทร์ศรีกุล, นันทินี ศรีจุมปา. เห็ดพิษ สมาคมนักวิจัยและเพาะเห็ดแห่งประเทศไทย : 1-15.
2. .. ยงยุทธ ขจรวิทย์. วารสารสมาคมนักวิจัยและเพาะเห็ดแห่งประเทศไทย : 52-6.
  • แหล่งข้อมูล สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กลุ่มเฝ้าระวังและสอบสวนโรค
  • หนังสือเห็ดพิษ ของสมาคมนักวิจัยและเพาะเห็ดแห่งประเทศไทย (The Mushroomresearchers and Growers Society of Thailand.) พิมพ์ครั้งที่ 1 ปี 2543.

การจำแนกประเภท ของเห็ดพิษ


  • เห็ดพิษในประเทศไทยจำแนกตามสารพิษ
สมาคมนักวิจัยและเพาะเห็ดแห่งประเทศไทย ได้จัดพิมพ์เผยแพร่ความรู้เรื่องเห็ดพิษและข้อมูลต่าง ไปแล้วหลายเรื่อง สำหรับคราวนี้จะจัดพิมพ์เป็นเล่มพิเศษ จึงได้จัดจำแนกเห็ดพิษทั้งของเก่าและของใหม่ ที่สำรวจพบแยกตามกลุ่มสารพิษออกเป็น 7 กลุ่ม ( Miller 1980, Lincoff และ Michell 1977) และมีรูปของเห็ดพิษเหล่านี้ประกอบอยู่ในบทความ(ค้นหาจากดรรชนีบทความ)
กลุ่มที่สร้างสารพิษ Cyclopeptides
อะมาท็อกซิน ( Amatoxins) และ ฟาโลท็อกซิน ( Phallotoxins) เป็นสารพิษทำลายเซลล์ของตับ ไต ระบบทางเดินอาหาร ระบบเลือด ระบบหายใจ และระบบสมอง ทำให้ถึงแก่ความตาย นับได้ว่าเป็นสารพิษ ในเห็ดที่ร้ายแรงที่สุด ผู้ป่วยถึงแก่ชีวิตภายใน 4-10 ชั่วโมง เห็ดหลายชนิดในสกุล Amanita สกุล Galerina และสกุล Lepiota จัดเป็นเห็ดพิษในกลุ่มนี้ เท่าที่ผู้เขียนรวบรวมได้ในประเทศมีอยู่ 2 ชนิด คือ
Amanita verna (Bull. ex.fr.) Vitt
ชื่อพื้นเมือง เห็ดระโงกหิน เห็ดไข่ตายซาก (ฮาก) เห็ดชนิดนี้มีสีขาวล้วน เมื่อยังอ่อนมีเปลือกหุ้มสีข่าวคล้ายเปลือกไข่ ซึ่งด้านบนฉีดขาดออกเมื่อเห็ดเจริญโตขึ้น
หมวกเห็ด เป็นรูปกระทะคว่ำเส้นผ่าศูนย์กลาง 5-12 เซนติเมตร ผิวมักจะมีเศษของเปลือกหุ้มดอก อ่อนที่ปริแตกออกเป็นชิ้นบาง ติดอยู่บางส่วนซึ่งหลุดหายไปได้ง่าย ด้านล่างมีครีบสีขาวเรียงกันรอบก้านแต่ไม่ยึดติดกับก้าน
ก้าน ยาว 5-12 เซนติเมตร เส้นผ่าศูนย์กลาง 1-1.5 เซนติเมตร รูปทรงกระบอก ผิวเรียบ โคนก้านโป่งเป็นกะเปาะใหญ่และมีส่วนล่างของเปลือกหุ้มดอกอ่อนติดอยู่ที่โคนเป็นรูปถ้วย บนก้านตอนบนมีวงแหวนเป็นแผ่นบางสีขาวซึ่งหลุดได้ง่าย
สปอร์ สีขาว รูปรีกว้าง ผิวเรียบ ผนังบาง ขนาด 8-11 x 7.9 ไมโครเมตร เห็ดชนิดนี้เกิดเป็นดอกเดี่ยวในป่าเบญจพรรณ
Amanita virosa Secr.
ชื่อพื้นเมือง เห็ดระโงกหิน เห็ดไข่ตายซาก เช่นกัน รูปร่างและสีของเห็ดเหมือนชนิดแรกต่างกันที่ A. virosa มีขนหยาบบนก้านและสปอร์ค่อนข้างกลมขนาด 8-10 ไมโครเมตร เห็ดชนิดนี้จะพบมากกว่าชนิดแรก
มีผู้รายงานเห็ดพิษในกลุ่มนี้ในประเทศไทยอีก 2 ชนิด (เกษม, 2537) คือ ชนิด Amanita phalloides (Fr.) Secr. เห็ดชนิดนี้รูปร่างเหมือนเห็ด A. Verna และ A. Virosa ต่างกันที่หมวกซึ่งมีสีเหลืองอ่อน เหลืองอ่อนอมเขียว หรือสีน้ำตาลอ่อน และชนิด Amanita bisporigera ซึ่งเหมือน A. verna และ A. virosa แต่มีขนาดเล็กว่า และสร้างสปอร์เพียงบนก้านเบซิเดียม
เพื่อความปลอดภัยมีข้อควรระวังสำหรับเห็ดในกลุ่มนี้ไม่ควรรับประทานเห็ดสกุล Amanita หรือสกุลเห็ดไข่หรือเห็ดระโงกขณะยังอ่อนมีเปลือกหุ้ม และไม่ควรรับประทานเห็ดสกุล Amanita สกุล Galerina และสกุล Lepiota จนกว่าจะมีรายงานว่าเป็นเห็ดรับประทานได้
กลุ่มที่สร้างสารพิษ Monomethylhydrazine
เห็ดมีชื่อว่า Gyromitrin สารพิษนี้ทำให้คนถึงแก่ความตายถ้ารับประทานเห็ดดิบและน้ำต้มเห็ด เป็นสารพิษเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร ระบบประสาทและทำลายเซลล์ตับด้วย สารพิษในกลุ่มนี้พบในเห็ดสกุล Gyromitra ทั้งหมด ในประเทศไทยมีรายงานอยู่ 1 ชนิด คือ
Gyromitra esculenta (Pat. Et Bak.) Boedism.
ชื่อพื้นเมือง เห็ดสมองวัว ซึ่งเป็นเห็ดราในกลุ่ม Ascomycetes
หมวก เป็นรูปอานม้าสีน้ำตาลอมเหลือง แล้วเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเข้ม เส้นผ่าศูนย์กลาง 2-10 เซนติเมตร ผิวหมวกหยักเป็นลอนและคลื่นคล้ายสมองด้านล่างเป็นแอ่งตื้น สีน้ำตาลอ่อน
ก้าน สีขา ยาว 2-5 เซนติเมตร ใหญ่ 1-2 เซนติเมตร ไม่แตกแขนง บางดอกมีร่องยาวรอบก้าน ผิวเรียบ ภายในกลวง และแบ่งเป็น 2-3 ช่อง
สปอร์ รูปรี ใส ไม่มีสี ขนาด 9-12 x 18-22 ไมโครเมตร ภายในมีก้อนกลมเล็ก คล้ายหยดน้ำ 1-2 หยด เพื่อความปลอดภัยไม่ควรรับประทานเห็ดดิบและน้ำต้มเห็ด แต่เมื่อต้มสุกแล้วรับประทานเนื้อได้ เห็ดชนิดที่กล่าวมาแล้วพบในป่าทางภาคเหนือ

เห็ดกระโดงตีนต่ำ


เห็ดกระโดงตีนต่ำ


เห็ดหัวกรวดครีบเขียว, เห็ดกระโดงตีนต่ำ : Chlorophyllum molybdites (Meyer ex Fr.) Mass.

พบบนพื้นดิน ขึ้นตามสนามหญ้าและทุ่งนาทั่วทุกภาคในประเทศไทย มีพิษทำให้เกิดอาการมึนเมา คลื่นเหียนและอาเจียน

ลักษณะของดอกเห็ด เมื่ออ่อนลักษณะเป็นก้อนกลมแล้วเจริญบานออกเป็นรูปร่ม ขึ้นตามสนามหญ้า และทุ่งนา หมวกเห็ด มีสีขาว เส้นผ่านศูนย์กลาง 10 ถึง 20 เซนติเมตร กลางหมวกมีสีน้ำตาล ซึ่งแตกออกเป็นเกล็ดใหญ่รูปสี่เหลี่ยมกระจายออกไปถึงกึ่งกลางหมวกครีบสีขาว เมื่อเจริญมากขึ้นจะเปลี่ยนเป็นสีขาวอมเขียวอ่อน สีของครีบจะเข้มขึ้นเรื่อยๆ เป็นสีน้ำตาลอมเขียวหม่น เมื่อดอกแก่จัดสีของครีบจะเป็นสีเทาอมเขียวหม่น ครีบไม่ติดกับก้าน ก้านมีรูปทรงกระบอกสีขาวหรือน้ำตาลอ่อน ยาว 6 ถึง 20 เซนติเมตร เส้นผ่านศูนย์กลาง 1.5 ถึง 1.8 เซนติเมตร โคนก้านใหญ่ เป็นกระเปาะเล็กน้อย ภายในมีรูกลวงเล็กๆ ตลอดก้านใต้หมวกมีวงแหวนใหญ่และหนา ขอบบนสีน้ำตาล ขอบล่างสีขาว เมื่อแก่จัดวงแหวนจะหลุดเป็นปลอก เนื้อในเห็ดสีขาวตัดแล้วมีสีแดงเรื่อๆ สปอร์รูปไข่สีเขียวอ่อน ขนาดกว้าง 6.5 ถึง 8 ไมครอน ยาว 9 ถึง 11 ไมครอน ผิวเรียบ ผนังหนา ปลายบนมีรูเปิด 1 รู

อาการพิษ ทำให้เกิดอาการมึนเมา คลื่นเหียน และอาเจียน


ที่มา : หนังสือเห็ดพิษ ของสมาคมนักวิจัยและเพาะเห็ดแห่งประเทศไทย

(The Mushroomresearchers and Growers Society of Thailand.)พิมพ์ครั้งที่ 1 ปี 2543

เห็ดแดงน้ำหมาก


เห็ดแดงน้ำหมาก


หมวก รูปกระทะคว่ำ สีแดง เส้นผ่าศูนย์กลาง 3 – 6 เซนติเมตร ตรงกลางเว้าตื้น ขอบหมวกงอลงเล็กน้อย ผิวเรียบ ครีบสีขาวหรือขาวนวล ก้านใบยึดติดกับกับก้าน

ก้าน สีขาว ยาว 5 – 10 เซนติเมตร เส้นผ่าศูนย์กลาง 0.5 – 2.5 เซนติเมตร โคนรูปใบพาย ผิวเรียบ บางดอกเป็นร่องตามยาว เนื้อในก้านสีขาวและมักเป็นโพรง

สปอร์ รูปไข่หรือรูปรี สีขาวขนาด 6 – 9 x 7.5 – 12.8 ไมโครเมตร ผิวขรุขระมีสันนูนสานกันแบบร่องแห เห็ดชนิดนี้ในต่างประเทศจัดเป็นเห็ดมีพิษซึ้งต้มสุกแล้วรับประทานได้

ที่มา : หนังสือเห็ดพิษ ของสมาคมนักวิจัยและเพาะเห็ดแห่งประเทศไทย

(The Mushroomresearchers and Growers Society of Thailand.)พิมพ์ครั้งที่ 1 ปี 2543

เห็ดระโงกหิน



Amanita verna (Bull. Ex.Fr.) Vitt.

ชื่อพื้นเมือง เห็ดระโงกหิน เห็ด ไข่ตายซาก ( ฮาก)

เห็ดชนิดนี้มีสีขาวล้วน เมื่อยัง อ่อนมีเปลือกหุ้มสีขาวคล้ายเปลือกไข่ซึ่งด้านบนฉีกขาดออกเมื่อเห็ดเจริญโตขึ้น
หมวกเห็ด เป็นรูปกระทะคว่ำเส้นผ่าศูนย์กลาง 5-12 เซนติเมตร ผิวมักจะมีเศษของเปลือกหุ้มดอกอ่อนที่ปริแตกออกเป็นชิ้นบางๆ
ติดอยู่บางส่วนซึ่งหลุดหายไปได้ง่าย ด้านล่างมีครีมสีขาวเรียงกันรอบก้านแต่ไม่ยึดติดกับก้าน
ก้าน ยาว 5-12 เซนติเมตร เส้นผ่าศูนย์กลาง 1 - 1.5 เซนติเมตร รูปทรงกระบอก ผิวเรียบ
โคนก้านโปร่งเป็นกระเปาะใหญ่และมีส่วนล่างของเปลือกหุ้มดอกอ่อนติดอยู่ที่โคนเป็นรูปถ้วย บนก้านดอกบนมีวงแหวนเป็นแผ่นบางสีขาวซึ่งหลุดได้ง่าย
สปอร์ สีขาว รูปรีกว้าง ผิวเรียบ ผิวบาง ขนาด 8-11 x 7-9 ไมโครเมตรเห็ดชนิดนี้เกิดเป็นดอกเดี่ยวในป่าเบญจพรรณ
ที่มา : หนังสือเห็ดพิษ ของสมาคมนักวิจัยและเพาะเห็ดแห่งประเทศไทย
(The Mushroomresearchers and Growers Society of Thailand.)พิมพ์ครั้งที่ 1 ปี 2543

เห็ดสมองวัว


Gyromitra esculenta (Pat. Et Bak.) Boediesm.

ชื่อพื้นเมือง เห็ดสมองวัว ซึ่งเป็นเห็ดราในกลุ่ม Ascomycomycetes

หมวก เป็นรูปอานม้าสีน้ำตาลอมเหลือง แล้วเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเข้ม เส้นผ่านศูนย์กลาง 2-10 เซนติเมตร

ผิวหมวกหยักเป็นลอนและคลื่นคล้ายสมองด้านล่างเป็นแอ่งตื่นๆ สีน้ำตาลอ่อน

ก้าน สีขาว ยาว 2-5 เซนติเมตร ใหญ่ 1-2 เซนติเมตร ไม่แตกแขนง บางดอก มีร่องยาวรอบก้าน ผิวเรียบ ภายในกลวง และแบ่งเป็น 2-3 ช่อง

สปอร์ รูปรี ใส ไม่มีสี ขนาด 9-12 x 18-22 ไมโครเมตร ภายในมีก้อนกลมเล็กๆ คล้ายหยดน้ำ 1-2 หยด

เพื่อความปลอดภัยไม่ควรรับประทานเห็ดดิบและน้ำต้มเห็ด แต่เมื่อสุดแล้วรับประทานเนื้อได้ เห็ดที่กล่าวมาพบได้ทางภาคเหนือ


ที่มา : หนังสือเห็ดพิษ ของสมาคมนักวิจัยและเพาะเห็ดแห่งประเทศไทย
(The Mushroomresearchers and Growers Society of Thailand.)พิมพ์ครั้งที่ 1 ปี 2543

เห็ดรูประฆัง


Coprinus atramentarius (Bull.) Fr.


ชื่อพื้นเมือง เห็ดรูประฆัง สีขาวนวลหรือสีน้ำตาลอ่อน เส้นผ่าศูนย์กลาง 2-4 เซนติเมตร

หมวกเห็ด มีเนื้อหนากว่าเห็ดถั่วชนิดอื่น ขอบหมวกสีเทาดำเมื่อเริ่มมีดอกแก่และมักจะฉีกขาดเป็นแห่งๆ

ครีบ มีสีขาวและเปลี่ยนเป็นสีดำและย่อยตัวเองเป็นของเหลวสีดำ ครีบไม่ติดก้าน

ก้าน รูปทรงกระบอก ยาว 5-11 เซนติเมตร เส้นผ่าศูนย์กลาง 3-4 มิลลิเมตร

รูปทรง กระบอก ผิวเรียบ เป็นมันเงา สีขาว โคนก้านสีขาวนวลหรือน้ำตาลอ่อนปกติจะมีวงแหวนบริเวณโคนก้านซึ่งหลุดออก

สปอร์ สีดำ รูปผลมะนาว ผิวเรียบ ผนังหนา ปลายบนมีรูเปิด ขนาด 7-8 ไมโครเมตร

ชอบขึ้นบนอินทรียวัตถุ เช่น กองเปลือกถั่วเหลืองเกิดดอกเป็นกลุ่มใหญ่เพื่อ ความปลอดภัยห้ามดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอลล์ หลังรับประทานเห็ด

เพราะสารพิษทำให้มึนเมาจนหมดสติได้ แต่จะหายใจเป็นปกติภายใน 3-4 ชั่วโมง


ที่มา : หนังสือเห็ดพิษ ของสมาคมนักวิจัยและเพาะเห็ดแห่งประเทศไทย
(The Mushroomresearchers and Growers Society of Thailand.)พิมพ์ครั้งที่ 1 ปี 2543

เห็ดเกล็ดดาว


Amanita Pantherina (Dc. Ex. FR.) Secr.


ชื่อพื้นเมือง เมื่อยังอ่อนมีเปลือกหุ้มรูปกลม หรือรูปไข่สีขาว ด้านบนปริแตกออกเป็น เกล็ดเล็กๆ ติดอยู่บนหมวกซึ่งหลุดง่าย

หมวก รูปกระทะคว่ำ สีน้ำตาลอมเหลือง หรือสีน้ำตาล เส้นผ่าศูนย์กลาง 2-8 เซนติเมตรผิวมีขนหรือเกล็ดบางๆ

สีขาวชัดเจนบริเวณโคนก้านโคนโป่งเป็นกระเปาะและมีเปลือกหุ้มดอกอ่อน ส่วนที่เหลือติดกับขอบและแถบ

วงกลมซ้อนกัน 1-2 ชั้น ก้านตอนบนหรือกึ่งกลางมีวงแหวนสี ขาว หรือสีขาวนวล ซึ่งหลุดได้ง่าย

สปอร์ สีขาว รูปรี ผิวเรียบ ผิวบาง ขนาด 6-5 x 8-12 ไมโครเมตร พบในป่าผลัดใบและป่าสนทางภาคเหนือ



                               Amanita muscaria (L.ex.Fr.) Hooker.


เป็นเห็ดอีกชนิดหนึ่งที่น้อยกว่าเห็ดชนิดแรก มีผู้รานงานไว้แล้ว (เกษม 2537) รูปร่างคล้ายเห็ด Amanita pantherina

ที่แตกต่างก็คือมีหมวกสีแดง หรือแดงอมเหลือง

นอกจากเห็ดทั้งสองชนิดแล้วมีผู้รายงานเห็ดในสกุล Inocybe และ Clicotybeไว้อีกสกุลละ 3 ชนิดโดยระบุว่าเป็นเห็ดมีพิษจึงควรมีสารพิษในกลุ่มนี้ได้แก่ เห็ด

Inocybedestricata, I. Ifelix, I. splendens, Clitocybe flaccida, C.gibba และ C.phyllophila แต่ Clitocybe flaccida

และ C.gibba มีรายงานว่ารับประทานได้ (เกษม 2537)

เพื่อความปลอดภัยต้องศึกษาและเรียนรู้เห็ดแต่ละชนิด หลีกเลี่ยงรับประทานเห็ดในสกุล Amanita, Clitocybe และ Inocybe ไว้ก่อนเพราะถ้าเป็นพิษอาการปางตาย


ที่มา : หนังสือเห็ดพิษ ของสมาคมนักวิจัยและเพาะเห็ดแห่งประเทศไทย
(The Mushroomresearchers and Growers Society of Thailand.)พิมพ์ครั้งที่ 1 ปี 2543