การจำแนกประเภท ของเห็ดพิษ


  • เห็ดพิษในประเทศไทยจำแนกตามสารพิษ
สมาคมนักวิจัยและเพาะเห็ดแห่งประเทศไทย ได้จัดพิมพ์เผยแพร่ความรู้เรื่องเห็ดพิษและข้อมูลต่าง ไปแล้วหลายเรื่อง สำหรับคราวนี้จะจัดพิมพ์เป็นเล่มพิเศษ จึงได้จัดจำแนกเห็ดพิษทั้งของเก่าและของใหม่ ที่สำรวจพบแยกตามกลุ่มสารพิษออกเป็น 7 กลุ่ม ( Miller 1980, Lincoff และ Michell 1977) และมีรูปของเห็ดพิษเหล่านี้ประกอบอยู่ในบทความ(ค้นหาจากดรรชนีบทความ)
กลุ่มที่สร้างสารพิษ Cyclopeptides
อะมาท็อกซิน ( Amatoxins) และ ฟาโลท็อกซิน ( Phallotoxins) เป็นสารพิษทำลายเซลล์ของตับ ไต ระบบทางเดินอาหาร ระบบเลือด ระบบหายใจ และระบบสมอง ทำให้ถึงแก่ความตาย นับได้ว่าเป็นสารพิษ ในเห็ดที่ร้ายแรงที่สุด ผู้ป่วยถึงแก่ชีวิตภายใน 4-10 ชั่วโมง เห็ดหลายชนิดในสกุล Amanita สกุล Galerina และสกุล Lepiota จัดเป็นเห็ดพิษในกลุ่มนี้ เท่าที่ผู้เขียนรวบรวมได้ในประเทศมีอยู่ 2 ชนิด คือ
Amanita verna (Bull. ex.fr.) Vitt
ชื่อพื้นเมือง เห็ดระโงกหิน เห็ดไข่ตายซาก (ฮาก) เห็ดชนิดนี้มีสีขาวล้วน เมื่อยังอ่อนมีเปลือกหุ้มสีข่าวคล้ายเปลือกไข่ ซึ่งด้านบนฉีดขาดออกเมื่อเห็ดเจริญโตขึ้น
หมวกเห็ด เป็นรูปกระทะคว่ำเส้นผ่าศูนย์กลาง 5-12 เซนติเมตร ผิวมักจะมีเศษของเปลือกหุ้มดอก อ่อนที่ปริแตกออกเป็นชิ้นบาง ติดอยู่บางส่วนซึ่งหลุดหายไปได้ง่าย ด้านล่างมีครีบสีขาวเรียงกันรอบก้านแต่ไม่ยึดติดกับก้าน
ก้าน ยาว 5-12 เซนติเมตร เส้นผ่าศูนย์กลาง 1-1.5 เซนติเมตร รูปทรงกระบอก ผิวเรียบ โคนก้านโป่งเป็นกะเปาะใหญ่และมีส่วนล่างของเปลือกหุ้มดอกอ่อนติดอยู่ที่โคนเป็นรูปถ้วย บนก้านตอนบนมีวงแหวนเป็นแผ่นบางสีขาวซึ่งหลุดได้ง่าย
สปอร์ สีขาว รูปรีกว้าง ผิวเรียบ ผนังบาง ขนาด 8-11 x 7.9 ไมโครเมตร เห็ดชนิดนี้เกิดเป็นดอกเดี่ยวในป่าเบญจพรรณ
Amanita virosa Secr.
ชื่อพื้นเมือง เห็ดระโงกหิน เห็ดไข่ตายซาก เช่นกัน รูปร่างและสีของเห็ดเหมือนชนิดแรกต่างกันที่ A. virosa มีขนหยาบบนก้านและสปอร์ค่อนข้างกลมขนาด 8-10 ไมโครเมตร เห็ดชนิดนี้จะพบมากกว่าชนิดแรก
มีผู้รายงานเห็ดพิษในกลุ่มนี้ในประเทศไทยอีก 2 ชนิด (เกษม, 2537) คือ ชนิด Amanita phalloides (Fr.) Secr. เห็ดชนิดนี้รูปร่างเหมือนเห็ด A. Verna และ A. Virosa ต่างกันที่หมวกซึ่งมีสีเหลืองอ่อน เหลืองอ่อนอมเขียว หรือสีน้ำตาลอ่อน และชนิด Amanita bisporigera ซึ่งเหมือน A. verna และ A. virosa แต่มีขนาดเล็กว่า และสร้างสปอร์เพียงบนก้านเบซิเดียม
เพื่อความปลอดภัยมีข้อควรระวังสำหรับเห็ดในกลุ่มนี้ไม่ควรรับประทานเห็ดสกุล Amanita หรือสกุลเห็ดไข่หรือเห็ดระโงกขณะยังอ่อนมีเปลือกหุ้ม และไม่ควรรับประทานเห็ดสกุล Amanita สกุล Galerina และสกุล Lepiota จนกว่าจะมีรายงานว่าเป็นเห็ดรับประทานได้
กลุ่มที่สร้างสารพิษ Monomethylhydrazine
เห็ดมีชื่อว่า Gyromitrin สารพิษนี้ทำให้คนถึงแก่ความตายถ้ารับประทานเห็ดดิบและน้ำต้มเห็ด เป็นสารพิษเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร ระบบประสาทและทำลายเซลล์ตับด้วย สารพิษในกลุ่มนี้พบในเห็ดสกุล Gyromitra ทั้งหมด ในประเทศไทยมีรายงานอยู่ 1 ชนิด คือ
Gyromitra esculenta (Pat. Et Bak.) Boedism.
ชื่อพื้นเมือง เห็ดสมองวัว ซึ่งเป็นเห็ดราในกลุ่ม Ascomycetes
หมวก เป็นรูปอานม้าสีน้ำตาลอมเหลือง แล้วเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเข้ม เส้นผ่าศูนย์กลาง 2-10 เซนติเมตร ผิวหมวกหยักเป็นลอนและคลื่นคล้ายสมองด้านล่างเป็นแอ่งตื้น สีน้ำตาลอ่อน
ก้าน สีขา ยาว 2-5 เซนติเมตร ใหญ่ 1-2 เซนติเมตร ไม่แตกแขนง บางดอกมีร่องยาวรอบก้าน ผิวเรียบ ภายในกลวง และแบ่งเป็น 2-3 ช่อง
สปอร์ รูปรี ใส ไม่มีสี ขนาด 9-12 x 18-22 ไมโครเมตร ภายในมีก้อนกลมเล็ก คล้ายหยดน้ำ 1-2 หยด เพื่อความปลอดภัยไม่ควรรับประทานเห็ดดิบและน้ำต้มเห็ด แต่เมื่อต้มสุกแล้วรับประทานเนื้อได้ เห็ดชนิดที่กล่าวมาแล้วพบในป่าทางภาคเหนือ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น